Archive for November, 2011
TOEFL 07: งานเขียนที่ดีต้องมี…
วันนี้เราจะมาคุยกันถึงทักษะการเขียนที่คน ส่วนใหญ่มักจะพบว่าทักษะนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เมื่อมนุษย์เริ่มเรียนภาษาเราก็มักจะเริ่มต้นโดยการฟังก่อน นึกถึงเด็กทารกที่เริ่มจากฟัง จากนั้นเด็กคนนั้นก็จะเริ่มที่จะพูด เมื่อเข้าโรงเรียนเราก็จะได้รับการฝึกฝนทักษะการอ่าน แล้วจึงมาสู่ทักษะการเขียนไงครับ
หากแต่ผมเคยได้รับ email จากผู้สนใจในหลักสูตรของ Kendall ในหลายครั้งว่า “ผมหรือดิฉันอยากเรียนภาษาอังกฤษเพียงแค่ให้พูดได้และเขียนได้ “
ผมว่าคำพูดดังกล่าวขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงนะครับเพราะทักษะของการพูดและการเขียนต้องได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจัง ดังนั้นเราต้องทุ่มเทมากกว่าความรู้สึกว่า “เพียงแค่” 😀
วันนี้เรามาเริ่มกันที่…
เคล็ดไม่ลับในการที่จะทำให้งานเขียนของคุณดูเป็นมืออาชีพครับ”
มีคุณป้าเจ้าของค่ายของนางงามอยู่ค่าย หนึ่งซึ่งผมจำไม่ได้ชัดว่าเป็นป้าอะไร? ได้พูดวลีโวหารซึ่งเป็นประโยคทองของบทเรียนวันนี้นั้นคือ
“ฉันสามารถให้สาวคนไหนก็ตามชนะการประกวดนางงาม ไม่ว่าสาวเจ้าจะสวยหรือไม่ จะอ้วนหรือผอม ขาวหรือดำ แต่ต้องขอให้สาวคนนั้นตัวสูงก็พอแล้ว”
นอกจากคำพูดดังกล่าวนั้นแสดงถึงความมั่นใจ ของคุณป้าในการปั้นเด็กแล้ว คำพูดนั้นบอกถึง intrinsic value ของการเป็นนางงาม (หากผู้อ่านท่านใดไม่ทราบคำว่า intrinsic แปลว่าอะไร? ลองเปิด dictionary นะครับ) แล้วจะมีลักษณะจำเพาะอะไรไหมในงานเขียนที่ดี?
สิ่งที่สามารถเปรียบเทียบได้กับคุณลักษณะ ของความสูงของนางงามในงานเขียนนั้นก็คือโครงสร้างที่ดีของงานเขียน งานเขียนที่ดีต้องประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
- Introduction: บทนำที่สามารถดึงดูดใจให้ผู้อ่านสนใจและอยากอ่านต่อ รวมทั้งบอกให้ผู้อ่านทราบถึงเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้น ในบางครั้ง เราบอกว่าบทนำก็คือ “Tell them what you are going to tell.”
- Body: เนื้อหาเป็นส่วนสำคัญของการเขียนทั้งหมด ความคิดและสิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านคล้อยตามจะอยู่ในส่วนเนื้อหานี้ การจัดวางรูปแบบรวมทั้งการใช้ตัวอย่าง, ข้อมูล, เรื่องเล่าเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนเนื้อหานี้หนังสือบางเล่มก็บอกว่าคือส่วนที่ “Tell them.” หรือการเล่าเรื่องราวที่อยากจะเล่าครับ
- Conclusion: บทสรุปเป็นการกล่าวย้อนถึงเนื้อหาที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมขอย้ำนะครับว่าเป็นเรื่องราวที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น เฉพาะในการเขียนบางประเภทเท่านั้นที่ผู้เขียนอาจจะสามารถตั้งคำถามหรือ ประเด็นใหม่ให้ผู้อ่านฉงนและนำไปคิดต่อได้ หากแต่โดยปกติแล้วเป็นเพียงการกล่าวย้อนเหมือนคำที่ว่า “Tell them what you have just told.”
เมื่อทุกท่านทราบถึงเคล็ดไม่ลับในการพัฒนาทักษะในการเขียนให้ดูเป็น professional แล้ว ก็เหลือเพียงนำไปลงมือปฏิบัติครับ และนี้ก็คือเหตุผลหนึ่งที่ทาง Kendall จัดให้มีการเรียนที่เป็นลักษณะ Writing Workshop ที่ผู้เรียนจะต้องลงมือเขียนอย่างจริงจัง(และทุก essay จะได้รับการตรวจโดยตรงจากผม)เพราะถึงแม้ทราบ theory หากแต่ไม่ได้นำไปฝึกฝนก็จะไม่สามารถพัฒนาได้ครับ
สรุปนะครับเขียน essay ทุกครั้งต้องมี Intro-Body-Conclusion สำคัญมากกกก นะครับ
แล้วคุยกันอีกครับ 😀
ดร.สิระ สุทธิคำ
TOEFL 06: Cold hearted, Green eyes และ Banana joke คืออะไร?
วันนี้ผมได้รับคำถามจากคุณ Abhirati S. ซึ่งน่าจะเป็นนักฟังเพลงตัวยงโดยมีรายละเอียดดังนี้
Q: ความหมายของคำว่า cold heart, green eyes และ banana joke คืออะไรคะ? อาจารย์สิระช่วยตอบด้วยคะ
ดังนั้นเรามาเริ่มจากคำแรกก่อนเลยนะครับ..
Cold hearted = หัวใจที่เย็นชา ยกตัวอย่างเช่น
- Cold-hearted killer jailed for life; Hitman who shot boy “never showed remorse.”
นักฆ่าที่เยือกเย็นอำมหิตนี้ถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต มือปืน(hitman) ยิงเด็กเล็กและไม่เคยแสดงความเสียใจ (remorse)
สำหรับคำว่า Green eyes มีได้หลายความหมายครับ
เราต้องดูจาก context โดยรอบ green eyes อาจจะหมายถึง
- คนที่มีตาสีเขียวก็ได้
- สาวสวยก็ได้เหมือนกับคำว่า “blue eyes”
- คนที่รักสิ่งแวดล้อม – เริ่มเป็นคำที่คนใช้มากขึ้น
- และแม้กระทั่งมนุษย์ต่างดาวที่เรามักจะนึกว่ามันตัวสีเขียวก็เลยเอาตาสีเขียวให้ด้วยเลย
ดูตัวอย่างจากเพลงของ Berryman, Buckland, Champion และ Martin (วิดิโออยู่ด้านบน)
Yeah, the spotlight shines upon you
And how could any
Anybody deny you?”
เพลงนี้คงกล่าวถึงสาวสวยนะครับ 😀
สุดท้ายแล้วครับ a banana joke หมายถึง
คำว่า banana เราใช้เรียกคนบ้าบอได้ ซึ่งจะหมายถึงว่าเรื่องตลกแบบไร้สาระนะครับ หรือหากเราจะแปลตรงตัวเราก็จะบอกได้ว่า banana joke คือเรื่องตลกที่เกี่ยวกับกล้วย
… ลองมาดูซักเรี่องสองเรื่องดีไหมครับ?
Banana joke #1
Q: Why did the banana go to the doctor’s office?
A: She wasn’t peeling well.
peeling = ปลอกเปลือก เสียงของมันจะพ้องกับคำว่า feeling ครับ
Q: What was the highlight of the banana gymnast’s performance?
A: A banana split.
split = แยกขาได้ดังนั้น ไอศครีม banana split ก็กลายเป็นทักษะของนักกีฬายิมไปได้ครับ 555
แล้วคุยกันอีกครับ 😀
ดร.สิระ สุทธิคำ
TOEFL 05: ทิปในการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ปริญญาเอก
Q: หนูกำลังจะไปสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนต่อปริญญาเอกและรู้สึกกังวลมาก อยากรบกวนอาจารย์ช่วยแนะให้ด้วยนะค่ะ” – คุณ… (ต้องขออภัยที่หาชื่อและ email ของผู้ถามไม่พบครับ)
“There’s More Than One Type of Interview”
ครับอย่างคำกล่าวข้างต้นครับ ไม่มีการสัมภาษณ์เพียงแบบเดียว ดังนั้นคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่ตอบได้ยากครับ หากแต่ผมได้แบ่งบทเรียนนี้เป็น 2 ส่วนและหวังว่าชาว EnglishThailand จะได้ประโยชน์จากบทความนี้
- คำถามที่พบบ่อยในการสมัครปริญญาเอก
- ทิปการสอบสัมภาษณ์เข้าเรียน Ph.D. ของ ดร.สิระ สุทธิคำ
คำถามที่พบบ่อยในการสมัครปริญญาเอก
สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
วิชาการ
- ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ? (ควร focus คำตอบไม่เกิน 3 เรื่องเท่านั้นนะครับ)
- คุณมีเป้าประสงค์ในชีวิตและแผนการที่จะไปสู่เป้าหมายนี้อย่างไร?
- ทำไมถึงคุณสนใจที่จะเข้าเรียนปริญญาเอกที่ [XYZ]?
- คุณได้เตรียมพร้อมกับการเรียนที่นี่อย่างไรบ้าง?
- อะไรที่คุณสามารถ “ให้” กับโครงการปริญญาเอกที่นี่ได้? (ไม่ใช่เงินนะครับ 555)
- จะทำวิจัยเรื่องอะไร? อะไรคือมูลเหตุจูงใจ?
- คุณคิดอย่างไรกับ (เรื่องราวที่กำลังเป็นข่าวหรืออยู่ใน field ที่เราไปสัมภาษณ์)?
- อะไรที่คุณคิดว่าเป็นความสำเร็จที่สุดในชีวิตของคุณ? เพราะอะไร?
ส่วนตัวและอื่น
- จุดอ่อนและจุดแข็งของคุณคืออะไร?
- อะไรคือประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย? หรือมัธยม? หรือ ทำงาน?
- คุณชอบหรือสนใจอะไร?
- กิจกรรมที่คุณชอบทำมีอะไรบ้าง?
- ช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวให้หน่อย
- หนังสือที่ชอบอ่านคืออะไรบ้าง? เพราะอะไร?
สามารถดูคำถามอื่นๆ แลทิปเพิ่มเติมได้ที่ http://www.550up.com/ee <–คลิกที่นี่
ทิปเกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์เข้า Ph.D. ของ ดร.สิระ สุทธิคำ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมักจะแนะให้ผู้ที่จะเข้าสัมภาษณ์นี้นึกถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย
- ทุกคนชอบให้ผู้อื่นสนใจในงานของตน ดังนั้นหากสามารถค้นประวัติของผู้สัมภาษณ์เรามาก่อนได้ก็จะสามารถที่จะเข้าใจความสนใจของอาจารย์แต่ละท่านได้ และหากโอกาสเหมาะสมเราควรจะ tie ความสนใจนั้นเข้ากับความสนใจของเรา (แต่ต้องระวังนะครับ อย่าให้มันไม่จริงใจนะครับ อาจารย์ส่วนใหญ่จะฉลาดและมีประสบการณ์มากนะครับ มองครั้งเดียวทะลุนะครับ)
- แสดงถึงความใส่ใจและแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เราสามารถให้กับโครงการหรือมหาวิทยาลัยได้ ในการสัมภาษณ์ในหลายครั้งได้เปลี่ยนห้องสัมภาษณ์เป็นเวทีแสดงออกถึงความ เก่งกาจของผู้เข้าสัมภาษณ์เท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมครับว่าประโยชน์ที่เราจะให้กับมหาวิทยาลัยนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนครับ อย่าลืมหาข้อมูลก่อนครับ!
- กลุ่มของอาจารย์เป็น different breed ครับ หากถามวิธีที่จะเปลี่ยน light bulb จากอาจารย์ซัก 10 ท่านก็คงไม่ประหลาดใจนักที่จะได้คำตอบกว่า 100 วิธีนะครับ 555 เนื่องจากอาชีพอาจารย์เป็นผู้นำทางด้านความคิด ดังนั้นอาจารย์ทุกท่านอาจจะไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกันได้ครับ ดังนั้นจงแสดงความคิดเห็นเป็นตัวของเราเองหากแต่อย่า offend ใครในห้องสัมภาษณ์ ตั้งคำถามได้และไม่เห็นด้วยได้ แต่ต้องไม่ offend ใครครับ!
- คิดก่อนพูดและเป็นนักฟังที่ดี การเป็นนักฟังที่ดีในวงการการศึกษาไม่ใช่นั่งเงียบแต่เป็นการฟังและเสริมต่อในจังหวะที่เหมาะสม อย่าพูดจังหวะที่คณะกรรมการพูดหรืออธิบายสิ่งที่สำคัญ
- เชื่อมั่นในตนเองและหาโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงความสามารถ
- สุดท้ายอาจจะไม่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์โดยตรงครับ แต่ผมอยากแนะนำให้ “Be nice to everyone.” รวมทั้งเลขาที่จัดลำดับการเข้าสัมภาษณ์ และแม้กระทั่งแม่บ้านที่มาเสริฟน้ำในห้องประชุม คนดี(และน่ารัก)ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้นะครับ กล่าวคำว่า “ขอบคุณครับ/คะ” ให้ดัง, จริงใจ, และบ่อยครั้งครับ
ขอให้โชคดีครับ แล้วคุยกันใหม่ครับ 😀
ดร.สิระ สุทธิคำ